ข่าวประชาสัมพันธ์
" 31 พฤษภาคม 2566 วันงดสูบบุหรี่โลก"
31 พฤษภาคม 2566
38
" 31 พฤษภาคม 2566 วันงดสูบบุหรี่โลก"
คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 คือ "บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย"
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๖๖ ได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” เพื่อส่งเสริมให้เลิกสูบผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 เนื่องจากในสถานการณ์ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พบว่า พฤติกรรมการสูบบุหรี่ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยง เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายและโอกาส รับหรือสัมผัสเชื้อได้ เนื่องจากขณะสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นสูบบุหรี่ธรรมดา หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ผู้สูบไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และใช้มือในการหยิบบุหรี่เข้าปาก ส่วนใหญ่ไม่มีการล้างมือให้สะอาดก่อนสูบ จึงมีรายงานพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มีประวัติการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่มักมีสุขภาพปอดไม่แข็งแรงทำให้มีอาการรุนแรงและเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้เพราะบุหรี่เป็นสารเสพติดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวและก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากกว่า ๒๕ โรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าในทุก ๑ นาที มีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ ๖–๗ คน ซึ่งโทษของบุหรี่ทำลายสุขภาพทั้งต่อผู้สูบเอง และผู้อยู่ใกล้ชิดที่สูดเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป โดยควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า ๔๒ ชนิด เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่ากับเวลาปกติหากได้รับจะเกิดการขาดออกซิเจนทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ, นิโคติน เป็นสารระเหยในควันบุหรี่ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางมีผลต่อต่อมหมวกไตทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ, ทาร์ หรือน้ำมันดินเป็นคราบมันข้นเหนียว สีน้ำตาลแก่ เกิดจากการเผาไหม้ของกระดาษและใบยาสูบ และเป็นสารก่อมะเร็งต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอดกล่องเสียง หลอดลม หลอดอาหาร ไต เป็นต้น ร้อยละ ๕๐ ของน้ำมันดินจะไปจับที่ปอดเกิดอาการระคายเคือง ทำให้ไอเรื้อรัง มีเสมหะ ผู้ที่เป็นมะเร็งปอดนั้น ร้อยละ ๙๐ เป็นผลเนื่องมาจาก การสูบบุหรี่ โดยมีผลวิจัยระบุว่าผู้ที่สูบบุหรี่เกินวันละ ๑ ซอง จะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง ๕-๒๐ เท่า เสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ ไอเรื้อรัง นอกจากนี้ทาร์ในควันบุหรี่จะสะสมอยู่ในปอดทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพอง หายใจขัด หอบ และหากเป็นเรื้อรังอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ง่าย
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข